วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การระเหย

อยู่ ๆ ผมก็สงสัยว่า ทำไมจู่ ๆ เหงื่อถึงแห้ง ทั้ง ๆ ที่ผิวหนังคนเรา อุณหภูมิก็ไม่ถึงจุดเดือดอย่างที่เราเรียนมาตอนเด็ก ๆ ก็ได้คำตอบดังนี้

การระเหย (อังกฤษ: Evaporation) คือ กระบวนการที่น้ำที่เป็นของเหลว เปลี่ยนสภาพโดยธรรมชาติเป็นก๊าซ โดย "ไม่จำเป็น" ต้องมีอุณหภูมิถึงจุดเดือด จะมีอุณหภูมิเท่าใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความดันบรรยากาศ และความชื้นของอากาศในขณะนั้น โดยจะค่อย ๆ ระเหยบริเวณผิวน้ำไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ อย่างเช่นน้ำจากทะลที่ระเหยไปเรื่อย ๆ ทะเลก็ไม่ได้มีอุณหภูมิถึงจุดเดือด

กระบวนการระเหยนั้น ตรงกันข้ามกับ "การควบแน่น" ซึ่งหมายถึงการที่ไอน้ำ (น้ำในสถานะก๊าซ) เปลี่ยนเป็นของเหลว

ส่วนการเดือด (ที่ระดับน้ำทะเล) ซึ่งเราจะเห็นเมื่อเราต้มน้ำ จนถึงจุดเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส จะเห็นว่าน้ำทั้งหมด ทั้งบนผิว และใต้น้ำ จะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นก๊าซทั้งหมด โดยจะเกิดขึ้นเร็วกว่าการระเหยที่อุณหภูมิต่ำเป็นอย่างมาก

การระเหย ส่วนมากจะมีประโยชน์ในการทำให้เย็นลง เช่น เหงื่อที่ร่างกายปล่อยออกมา ก็จะใช้ความร้อนจากร่างกายในการเปลี่ยนสภาพกลายเป็นก๊าซ เพื่อลอยหายไปในอากาศ และจะนำความร้อนจากร่างกายออกไปด้วย พอเหงื่อแห้ง เราจะรู้สึกว่าร่างกายเย็นลง รู้สึกสบายตัวขึ้น